นักวิจัยจาก Fraunhofer พิสูจน์ว่าหนอน wax moth ไม่สามารถย่อยสลาย PE ได้ |
2020-09-24
เมื่อหลายปีก่อนได้มีรายงานว่าหนอน wax moth หรือหนอนผีเสื้อกลางคืนสามารถกินและย่อยพลาสติกได้ ซึ่งทำให้เกิดความตื่นเต้นโดยหลายคนหวังว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่การค้นพบที่สำคัญสำหรับการจัดการขยะพลาสติก โดยงานศึกษาจากปี 2019 พบว่าตัวหนอนนี้สามารถกิน PE ได้ด้วยอัตราที่ค่อนข้างเร็ว คือ หนอน 100,000 ตัวสามารถกิน PE ได้ 5.2 กิโลกรัมในหนึ่งสัปดาห์ อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหนอนเหล่านี้สามารถย่อยพลาสติกได้จริงหรือไม่ หรือเพียงแค่กินเข้าไปและขับถ่ายออกมาอีกครั้ง
นักวิจัยจาก Fraunhofer Institute for Structural Durability and System Reliability ได้ทำการวิจัยโดยการวิเคราะห์การย่อยพลาสติกของตัวหนอนโดยอาศัยกล้อง Raman microscopy ความละเอียดสูงและใช้ซอฟท์แวร์เฉพาะเพื่อติดตามเส้นทางการเดินทางของพลาสติกผ่านตัวหนอนนี้ ซึ่งทำให้ทีมวิจัยสามารถมองเห็นความเข้มข้นของพลาสติกผสมกับสารอินทรีย์อื่น ๆ ภายในตัวหนอนในรูปแบบสามมิติด้วยความละเอียดสูงถึง 1 ไมโครเมตร
ผลการวิจัยพบว่าแม้ว่าหนอนชนิดนี้จะสามารถกินแผ่นพลาสติก PE เข้าไป แต่ไม่พบว่ามีการย่อยใด ๆ เกิดขึ้น “การย่อยสลาย polyethylene โดยหนอนนี้ยังคงเป็นเป้าหมายในอนาคตต่อไปสำหรับตอนนี้และจะมีความพยายามร่วมกันหลายสาขาวิชาเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จต่อไป สำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้น มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกและทำการรีไซเคิลขยะพลาสติกต่อไป” Dr. Bastian Barton ผู้ดูแลโครงการวิจัยนี้กล่าว
ปัจจุบันมีความต้องการอย่างเร่งด่วนสำหรับแนวคิดและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตพลาสติกที่มีคุณภาพสูงจากขยะพลาสติกที่ผ่านการใช้งาน ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเกิดการใช้พลาสติกซ้ำในวงกว้างและในกลุ่มสินค้าจำนวนมาก