นักวิจัยพัฒนารองเท้าแตะผลิตจากสาหร่าย |
2020-10-06
รองเท้าแตะเป็นประเภทรองเท้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกและเป็นต้นตอของขยะพลาสติกจำนวนมากที่ถูกนำไปถมทิ้งหรือกลายเป็นขยะตามชายหาดและมหาสมุทร ซึ่งนักวิจัยจาก University of California San Diego ได้ทำการค้นหาวิธีการแก้ปัญหานี้ และได้พัฒนาโฟม polyurethane ที่ผลิตจากน้ำมันสาหร่ายโดยได้ตีพิมพ์ใน Bioresource Technology Reports และอธิบายถึงความสำเร็จในการพัฒนาวัสดุที่มีความยั่งยืนและสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้นี้
งานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง UC San Diego และบริษัทสตาร์ทอัพ Algenesis Materials และนำโครงการโดยนักเรียนระดับปริญญาเอก Natasha Gunawan จากแลบของ Professor Michael Burkart และ Stephen Mayfield ร่วมกับ Marissa Tessman จาก Algenesis
“งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าเราได้ผลิตโฟมที่มีคุณภาพสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ” Mayfield กล่าว “เราได้สูตรส่วนผสมที่เหมาะสมมาหลังจากการทดสอบกว่าหลายร้อยสูตร ซึ่งโฟมตัวนี้ปัจจุบันมีส่วนผสมของวัสดุชีวภาพ 52% และเราจะพยายามทำให้กลายเป็น 100% ในที่สุด”
“เราได้พัฒนา polyurethanes ด้วยสารตั้งต้นจากวัสดุชีวภาพ ดังนั้นรองเท้านี้จะสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้”
ตัวโฟมนี้ได้ถูกทดสอบการย่อยสลายในดิน และทีมวิจัยพบว่าการย่อยเกิดขึ้นภายใน 16 สัปดาห์ และระหว่างการย่อยนี้ ทางทีมได้วิเคราะห์ถึงจุลินทรีย์ที่ทำการย่อย “เราเอาเอนไซม์มาจากตัวจุลินทรีย์ที่ย่อยตัวโฟมและแสดงให้เห็นว่าเราสามารถนำมาใช้เพื่อ depolymerize ผลิตภัณฑ์ polyurethane ได้”
“อายุของวัสดุควรจะสอดคล้องกับอายุของสินค้า เราไม่ต้องการวัสดุที่จะมีอายุกว่า 500 ปีสำหรับสินค้าที่คุณจะใช้เพียงแค่หนึ่งหรือสองปี”